
ภัยเงียบของการแอ่นกระดูกต้นคอ…สัญญาณเสี่ยง “กระดูกคอเสื่อม”
การฝึกโยคะในกลุ่มท่าBackbend หรือการโค้งหลังนี้มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก มีการยืดกระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกสันหลังจะมีความยืดหยุ่นดี ช่วยบริหารส่วนต่างๆของร่างกาย ที่สำคัญยังช่วยบริหารการทำงานของหัวใจ กระตุ้นการทำงานของหลอดเลือด ให้เลือดไหลเวียนได้ดี
แต่ปัญหาที่พบมากในการฝึกท่าโค้งหลังคือ การแอ่นหรือหักต้นคอ หรือการหักคอไปด้านหลังมากจนเกินความจำเป็น หากทำบ่อยๆ หรือ แอ่นคอมากเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ วันนี้สถิตโยคะ จะมาบอกให้ผู้ฝึกทุกท่านทราบถึงกลไกการทำงานและหน้าที่สำคัญของกระดูกต้นคอ ว่ามีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไรและควรระมัดระวังกระดูกต้นคอของเราอย่างไร

?️กระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical vertebrae) มีจำนวน 7 ชิ้น ชิ้นที่ c1และชิ้นที่ c2 จะตั้งอยู่เป็นฐานกะโหลกศีรษะ ควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะและเป็นจุดเริ่มต้นทางผ่านของไขสันหลัง ชิ้นที่ c3ถึงชิ้นที่ c7 เราสามารถสัมผัส กระดูกทั้ง 7 ชิ้นเป็นที่ยึดเกาะของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ ทำหน้าเคลื่อนไหวลำคอและศีรษะ

?️กระดูกสันหลังเป็นจุดป้องกันเส้นประสาทที่สำคัญ เส้นประสาทที่เป็นเส้นยาวจากสมองลงไปสู่ขาทางด้านล่างต้องอาศัยกระดูกสันหลังเป็นทางผ่าน และเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง ร่างกายเกิดอาการเจ็บปวด และการเคลื่อนไหวร่างกายก็จะทำได้อย่างจำกัด เช่น ไม่สามารถก้มหยิบของได้ ไม่สามารถบิดลำตัวได้ ไม่สามารถนั่งหลังตรงได้ หนักที่สุดคือเราไม่สามารถขยับร่างกายได้อีกเลย ฯลฯ


?️ภัยเงียบที่แฝงมากับอาการปวด
กระดูกต้นคอ หรือข้อกระดูกต่างๆ ย่อมมีความเสื่อมตามวัยที่มากขึ้น และภาวะกระดูกคอเสื่อมจะแสดงอาการมากน้อยแตกต่างไปในแต่ละบุคคล ซึ่งมีปัจจัยหลายประการมาประกอบ เช่น ขนาดของน้ำหนักตัว ภารกิจประจำวัน การเคลื่อนไหวกระดูกคอในทิศทางที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการแอ่นมากเกินไป ภาวะหลวมคลอนของข้อกระดูกต่างๆ เป็นต้น อาการกระดูกคอเสื่อมนั้นเกิดจากการที่หินปูนที่เกาะบริเวณกระดูกและเอ็นไปกดเส้นประสาททำให้เกิดอาการปวดคอร้าว มักปวดหลังคอบริเวณ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง อาจปวดร้าวขึ้นไปถึงท้ายทอย หรือลงมาบริเวณสะบัก และปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือออกแรง


?️เราจึงควรเคลื่อนไหวกระดูกต้นคอทั้ง 7 ชิ้นด้วยความระมัดระวัง หากเกิดอาการบาดเจ็บ ก็อาจจะส่งผลกับร่างกายตามที่กล่าวไว้


?️การป้องกันอาการปวดต้นคอและกระดูกคอเสื่อม
ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดต้นคอมักมีสาเหตุมาจากการจัดวางท่าทางไม่ถูกต้อง รวมทั้งภาวะกระดูกเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งวิธีป้องกันอาการดังกล่าวสามารถเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันได้ดังนี้
✔ไม่ควรให้ศีรษะและต้นคอ รับน้ำหนักจากแรงกด แรงผลัก แรงดึง มากจนเกินความจำเป็น
✔หลีกเลี่ยงแอ่นหรือหักต้นคอไปด้านหลังมากจนเกินไปเพราะจะทำให้เกิดการกดทับที่บริเวณกระดูกต้นคอจนเกิดอาการบาดเจ็บได้
✔จัดท่าทางให้ถูกต้อง เมื่อยืนหรือนั่งควรให้ไหล่ตั้งตรงอยู่ในแนวเดียวกับสะโพก เช่นเดียวกับใบหูที่อยู่เหนือไหล่ในแนวเดียวกัน
✔ควรเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ ไม่ควรนั่งทำงานท่าเดิมนานเกินไป
✔จัดโต๊ะทำงาน โดยให้หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับสายตา ปรับเก้าอี้ให้นั่งแล้วหัวเข่าอยู่ต่ำกว่าสะโพกเล็กน้อย และควรใช้เก้าอี้ทำงานที่มีที่พักแขน
✔ไม่ควรแบกหรือสะพายกระเป๋าหนักๆ ไว้บนไหล่ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
✔ควรนอนให้ศีรษะและคออยู่ในแนวเดียวกับร่างกาย โดยใช้หมอนเล็กๆ รองคอไว้ นอนราบให้หลังติดที่นอนและใช้หมอนรองต้นขาให้สูงขึ้น
อย่างไรก็ดี “การฝึกโยคะ” ไม่ว่าจะเป็นการฝึกท่าอะไรก็ตามนั้นควรพึงระลึกไว้เสมอว่า ควรปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป ควรฝึกอย่างมีสติ ใช้ร่างกายแต่พอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป เพื่อการมีสุขภาพที่ดีแข็งแรงสมบูรณ์
Satit Yoga
FB : Satit Yoga
iG : Satit_Yoga
tel 065-2659156
www.satityoga.com