
การวางมือและการกระจายน้ำหนักมือที่ถูกต้องในการฝึกโยคะ
ประโยชน์ของการฝึก”โยคะ” นั้นนอกจากเป็นการฝึกประสาท ฝึกความยืดหยุ่น ความแข็งแกร่ง และการทรงตัวได้เป็นอย่างดีนั้น “โยคะ”ยังช่วยลดความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ฝึก “โยคะ” เป็นผู้ที่มีสุขภาพกายที่ดี แถมยังมีสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย สำหรับโยคะอาสนะนั้นมีมากมายหลายพันท่าอาสนะ ซึ่งมีทั้งระดับเบื้องต้นไปจนถึงระดับสูงซึ่งต้องใช้ทั้งความตั้งใจ ความอดทน ความเพียร ความมีสติ และความรักในการฝึกโยคะ ซึ่งในการฝึกอาสนะนั้นนอกจากเราจะใช้ความตั้งใจในการฝึกแล้ว เรายังต้องใช้ส่วนต่างๆของร่างกายประสานไปกับการฝึกอาสนะต่างๆนั้นอีกด้วย

“มือ” คือส่วนหนึ่งของร่างกายที่สำคัญมากในการฝึกอาสนะในกลุ่มArm balance ที่นิยมฝึกกันมากในปัจจุบัน
การวางตำแหน่งของมือ คือสิ่งที่เราไม่ควรมองข้ามในการฝึกโยคะ เพราะหากเราวางมือและลงน้ำหนักแบบผิดๆมันส่งผลเสียต่อร่างกายแทนที่เราจะได้รับประโยชน์จากการฝึกโยคะอย่างเต็มที่
“การวางมือแบบผิด” ในการฝึกโยคะแต่ละครั้งนั้นนานๆไปจะทำให้ผู้ฝึกเกิดอาการบาดเจ็บได้
-การวางข้อมือแบบบิดๆเบี้ยวๆ จะส่งผลต่อการรับน้ำหนัก การถ่ายเทน้ำหนักเพื่อรักษาสมดุลย์เป็นไปได้ยาก
-การห่อนิ้วมือ การวางมือไม่แน่น ทำให้ไม่สามารถกระจายน้ำหนักไปที่ฝ่ามือได้ ส่งผลให้น้ำหนักไปลงที่ข้อมือและทำให้เกิดบาดเจ็บได้ง่าย

การวางมือแบบถูกต้อง
ช่วยให้เราฝึกโยคะอย่างปลอดภัย ป้องกันการบาดเจ็บ ข้อมือและแขนแข็งแรงขึ้น ส่งผลให้การหมุนเวียนพลังของร่างกายดีขึ้น
-ควรกางนิ้วมือกว้างพอประมาณ
-ขณะเวลาฝึก ควรกระจายน้ำหนักให้ทั่วทั้งฝ่ามือและนิ้วมือ บริเวณอุ้งฝ่ามือควรวางให้แน่นไม่ลอยขึ้น
-กดปลายนิ้วแน่นๆ เพื่อช่วยในการรักษาสมดุลย์ และยังช่วยให้มั่นคงยิ่งขึ้น
-ตำแหน่งของการวางฝ่ามือ ควรสังเกตุให้จากท่อนแขนตรงไปสู่ข้อมือเป็นเส้นตรง ไม่บิดเบี้ยว

ท่าบริหารข้อมือ เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บและโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ
ท่าบริหารเส้นเอ็นข้อมือ
1. ตั้งฝ่ามือขึ้น แบมือและเหยียดนิ้วทุกนิ้วให้ตรง
2. งอนิ้วมือทุกนิ้วยกเว้นนิ้วโป้งให้ปลายนิ้วจรดโคนนิ้ว
3. กํามือและแบมือ
4. งอข้อนิ้วมือตรงโคนนิ้วของทุกนิ้ว ยกเว้นนิ้วโป้ง ให้ทํามุมตั้งฉากกับฝ่ามือ
5. กดนิ้วมือลงมาที่ฝ่ามือเบาๆ ขณะเดียวกันพยายามดึงนิ้วโป้งห่างออกจากฝ่ามือให้มากที่สุด ทําแต่ละท่าค้างไว้ประมาณ 7 วินาที ควรทําซ้ําตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1-5 ทำซ้ำบ่อยๆ ระหว่างฝึกโยคะหรือระหว่างการทํางาน

ท่าบริหารเส้นประสาทแขนและข้อมือ
1. ตั้งฝ่ามือขึ้นแล้วกํามือ
2. แบมือและเหยียดนิ้วทุกนิ้วให้ตรงที่สุด โดยให้แต่ละนิ้วชิดกัน
3. หงายฝ่ามือไปด้านหลัง ขณะเดียวกันให้กางนิ้วโป้งให้ห่างจากฝ่ามือมากที่สุด
4. ใช้นิ้วหัวแม่มืออีกข้างดึงนิ้วโป้งให้ห่างจากฝ่ามือให้มากที่สุด ทําแต่ละท่าค้างไว้ประมาณ 7 วินาที ควรทําซ้ําตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1-4 อีกวันละ 5 ครั้ง

ท่าบริหารบอกลาอาการปวดข้อมือ
1. กระดกข้อมือ กระดกข้อมือลงเข้าหาแขนและหงายข้อมือขึ้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้ ทําท่านี้ ซ้ํา 20 ครั้ง
2. บิดข้อมือซ้ายขวา กํามือหลวมๆ แล้วบิดข้อมือไปด้านซ้ายและขวา สลับกัน ทําช้าๆ ติดต่อกัน 20 ครั้ง เพื่อช่วยยืดกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อรอบข้อมือ
3. ยืดกล้ามเนื้อข้อมือ ใช้มือข้างหนึ่งจับบริเวณหลังมืออีกข้าง เช่น หากปวดข้อมือด้านขวาก็ให้ใช้มือซ้ายจับที่หลังมือขวา แล้วค่อยๆ กดมือลงช้าๆ จนรู้สึกตึงบริเวณข้อมือ ทําค้างไว้ 5 วินาที
4. ยืดกล้ามเนื้อข้อมือแบบที่ 2 เลื่อนมือซ้ายมาจับที่บริเวณนิ้วมือข้างขวา (ยกเว้นนิ้วโป้ง) แล้วค่อยๆ ออกแรงดันนิ้วมือไปด้านหลัง โดยที่นิ้วทั้งสี่เหยียดตรง จนรู้สึกตึงบริเวณข้อมือ ทําค้างไว้ 5 วินาที

จุดมุ่งหมายของการฝึกโยคะ ก็เพื่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ ฝึกร่างกายให้มีความคงทนและมีชีวิตยืนยาว โยคะไม่ใช่เรื่องของศาสนา ปรัชญาหรือลัทธิใดๆ แต่หากเป็นวิธีการดูแลสุขภาพ ร่างกายและจิตใจตามธรรมชาติ ดังนั้นเราจึงควรมีสติทุกขณะจิตในการฝึก และควรฝึกแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างถูกต้องและปลอดภัย

เขียนโดย Satit Yoga
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก ชีวจิต