กฎข้อแรกของการฝึกโยคะ คือการฝึกให้สนุกและมีความสุขอยู่ในทุกอาสนะ by Anchana Lakviramsiri

กฎข้อแรกของการฝึกโยคะ คือการฝึกให้สนุกและมีความสุขอยู่ในทุกอาสนะ

 

โยคะเป็นอีกหนึ่งการออกกำลังกายที่มีความหลากหลายในรูปแบบของการเคลื่อนไหว เฉกเช่นเดียวกับการออกกำลังกายอื่น ดังนั้น ผู้ที่ฝึกโยคะก็ควรต้องถามตัวเองก่อนว่า จุดประสงค์ในการฝึกโยคะของตนเองนั้น ฝึกไปเพื่ออะไร เพื่อความแข็งแรง เพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อลดน้ำหนัก เพื่อสุขภาพ เพื่อชะลอวัย เพื่อใช้เวลาอยู่กับตัวเอง เพื่อฝึกสมาธิ หรือถูกทุกข้อที่กล่าวมาทั้งหมด…. หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้คงสงสัยว่า เฮ้ย การฝึกโยคะนี่มันทำอะไรได้มากมายขนาดนี้เชียวหรือนี่!!! ผู้เขียนคงตอบว่า หากฝึกโยคะมาถึงขั้นหนึ่งจนเข้าใจถึงแก่นแห่งการฝึกโยคะแล้ว ก็จะเข้าใจว่าโยคะสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้จริง ๆ แล้วจะมีความสุขกับการฝึกโยคะอยู่ในเสื่อของเราเอง ยังไงนะ?? งั้นเรามาทำความรู้จักกับ “โยคะ” กันก่อน

โยคะ (Yoga) ถือกำเนิดในประเทศอินเดียเมื่อหลายพันปีที่แล้ว (2000 ปีก่อนคริสต์ศักราช) โดยในบทนำของหนังสือ Gita according to Gandhi (คีตาในทัศนะของคานธี) ได้กล่าวถึง โยคะ ว่าเป็นการรวมกันของพลังจากร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณให้เป็นหนึ่งเดียว ก่อให้เกิดความสมดุลของจิตวิญญาณซึ่งช่วยให้เรามองเห็นทุกแง่มุมของชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน

 

การฝึกโยคะจึงเป็นการฝึกกาย ฝึกการหายใจ และฝึกจิตไปพร้อมกันเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีและเกิดความสงบสุขจากการเคลื่อนไหวที่สอดประสานกับลมหายใจเข้าออก และในขณะเดียวกันก็ต้องมีจิตที่สงบนิ่งระหว่างการเคลื่อนไหว ซึ่งการฝึกเหล่านี้จะนำไปสู่การมีสมาธิที่ดีขึ้น โดยการฝึกโยคะก็จะมีเทคนิคที่ต้องให้ความสนใจอยู่ 4 อย่างด้วยกันดังนี้

  1. ท่าฝึกในทางกาย หรือ “ท่าอาสนะ” เป็นท่าทางการฝึกพื้นฐานทางกายบริหารของโยคะซึ่งมีมากกว่าสองพันท่า มีทั้งท่าทางที่เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ฝึกความสมดุลให้ร่างกาย เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อให้มีความผ่อนคลาย ปรับสรีระให้มีความสมดุล ซึ่งอาสนะต่าง ๆ ที่ให้ผลต่างกันไปก็จะอยู่ในคลาสโยคะที่ต่างกันไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคลาสยืดเหยียด คลาส power หรือคลาสปรับสมดุลของจักระในร่างกาย ดังนั้น ก่อนจะฝึกโยคะ ผู้ฝึกควรจะถามตัวเองสักนิดว่า จุดประสงค์ของการฝึกโยคะที่ต้องการนั้น ฝึกไปเพื่ออะไร เพื่อให้เลือกคลาสการเข้าฝึกได้อย่างถูกต้อง และดื่มด่ำไปกับช่วงเวลาของการอยู่ในท่าอาสนะอย่างมีความสุขตลอดการฝึก
  2. การฝึกหายใจ (ฝึกลมปราณ) อย่างถูกวิธีเป็นหัวใจสำคัญของการฝึกโยคะ ถูกวิธีเป็นอย่างไรกระนั้นหรือ หลักการอย่างง่ายก็คือ “หายใจเข้าในขณะที่ร่างกายถูกทำให้ยืดออก หายใจออกในขณะที่ร่างกายถูกทำให้หดเข้ามา” และ “ห้าม กลั้นลมหายใจระหว่างการฝึก” โดยที่ผู้ฝึกสามารถหายใจในแบบที่ตนเองถนัดไม่ว่าจะเป็นการหายใจผ่านจมูกด้วยลมปกติ หรือการหายใจแบบอุชายี (มีเสียง ฮา ในลำคอระหว่างการหายใจ) ก็ได้เช่นกัน
  3. การฝึกทำสมาธิ การฝึกโยคะเป็นอีกรูปแบบของการฝึกสมาธิที่ดี เพราะผู้ฝึกควรจะโฟกัสความสนใจขณะที่ฝึกให้อยู่ภายในผืนเสื่อของตนเอง อยู่กับอาสนะของตนเอง อยู่กับลมหายใจของตนเอง โดยปล่อยวางสิ่งรอบข้าง งานที่ค้างคา ปัญหาที่ต้องแก้ หรือสิ่งอื่นใดที่เข้ามาก่อกวนให้จิตใจของผู้ฝึกวอกแวกออกไป ซึ่งการฝึกโยคะนั้น ผู้ฝึกส่วนมากก็จะใส่ใจในท่าทางที่ตนเองกำลังทำอยู่และวนเปลี่ยนไปตามที่ครูจะสอนไปเรื่อย ๆ ก่อให้เกิดความตั้งใจ และสิ่งเหล่านี้เองก็จะกลายเป็นจิตสมาธิในที่สุด
  4. การผ่อนคลายโดยสิ้นเชิงของร่างกายและจิตใจ เนื่องจากการฝึกโยคะเป็นกิจกรรมที่ลดระดับความเป็นตัวตน (ego) อยู่กับตัวเอง ไม่มีการแข่งขันกับเพื่อนข้างเสื่อหรือแม้แต่ตัวเองว่าใครทำได้ดีกว่าเพราะต้องเข้าใจถึงข้อจำกัดของสรีระแต่ละคนที่แตกต่างกันไป ไม่ฝืนร่างกายไปทำท่าที่ทำไม่ได้มากเกินไป ดังนั้น จิตใจจะมีความสงบและผ่อนคลาย สัมผัสได้ถึงพลังชีวิตที่ได้รับการฟื้นฟู ทำให้ร่างกายมีชีวิตชีวา ไม่เกิดอาการเคล็ดขัดยอกหรือเจ็บปวดจากการฝึกโยคะ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการปิดท้ายคลาสด้วย “ท่าศพ” หรือ “ศวาสนะ” ที่เป็นการผ่อนคลายเชิงลึกถึงระดับจิตใต้สํานึกเลยทีเดียว

by Anchana Lakviramsiri